Today Motorcycle
Motorcycle

Search This Blog

Wednesday, August 26, 2009

บิ๊กไบค์-เสกเวย์โอกาสใหม่ของคนที่มองเห็น

เมื่อมองย้อนไปประมาณ 1-2 ปีที่ใครๆ ต่างก็จับตามองกระแสเศรษฐกิจที่มีการคาดการณ์ว่าจะต้องได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์เศ่รษฐกิจตกต่ำของสหรัฐอเมริการอย่างแน่นอน เพียงแต่ใครจะได้รับมากหรือน้อยเท่านัน ดังนั้น จึงส่งผลให้เกิดการเตรียมตัวไปในทิศทางของการชะลอการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ท่ามกลางความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสและใช้จังหวะเวลานี้ในการก่อร่างสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา โดยเน้นไปที่การมองและตัดสินใจจากศักยภาพของตนเองเป็นหลัก แต่มีการวางกรอบแนวคิดในการทำธุรกิจแบบที่เรียกได้ว่าเสี่ยงอย่างมีการประเมินไว้แล้ว เพระไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่มีความเสี่ยง "ผู้จัดการ 360 รายสัปดาห์" ติดตาม 2 ผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสในธุรกิจ "บิ๊กไบค์" กับ "เสกเวย์" มานำเสนอ

บิ๊กไบค์ต้องเริ่มก่อนจะสายไป
ในช่วงจังหวะของเศรษฐกิจขาลง แต่"Gen4" สามารถแจ้งเกิดในธุรกิจ "Big bike" ทั้งๆ ที่รถมอเตอร์ไซค์คันละเกือบแสนขึ้นไปจนถึงราคาหลักล้านบาทนี้เรียกได้ว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ยิ่งในยุคเศรษฐกิจตกต่ำอย่างนี้ด้วยแล้ว นอกจากนี้ รถบิ๊กไบค์ยังเป็นธุรกิจที่มีอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่สินค้าแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีในตลาด แต่จุดสำคัญ ที่ทำให้ Gen 4 แทรกตัวขึ้นมาในธุรกิจนี้ได้ เป็นเพราะเห็นช่องว่างและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแตกต่าง จึงมีโอกสาใหม่ๆ เกิดขึ้น

จุดเริ่มต้นของ Gen 4 ไม่ได้แตกต่างจากหลายๆ ธุรกิจที่เกิดมาจากความสนใจหรือความฝันของผู้ประกอบการคนหนึ่ง ที่มีความประทับใจในอะไรสักอย่างหรือแปรเปลี่ยนงานอดิเรก ของเล่นสนุกๆ ในยามว่าง ที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เป็นไลฟ์สไตล์ส่วนตัวมาก่อร่างสร้างเป็นธุรกิจขึ้นมา แต่ความแตกต่างอยู่ที่การเตรียมความพร้อมและความสามารถในการบริหารจัดการ

หลังจากตัดสินใจแล้วว่าจะลงมือริเริ่มธุรกิจใหม่เพราะธุรกิจที่ปรึกษาทางการประชาสัมพันธ์ที่ทำมาถึง 13 ปี อยู่ในจุดที่อยู่ตัวแล้ว และยังคิดว่าวัยที่ร่วงเลยไปเรื่อยๆ อาจจะกลายเป็นอุปสรรค "ชาญยุทธ ชาญวิถี" จึงชักชวน วีระพงศ์ เหล่าวานิช ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ชื่นชอบการขับขี่รถบิ๊กไบค์เหมือนกัน พร้อมทั้ง ยังได้วรวุธ พานิชกุล นักแข่งมืออาชีพ หรือ Biker กับธวัชชัย ตรีพิชิต ซึ่งมีความถนัดในเรื่องงานช่างมาเป็นทั้งทีมงานและหุ้นส่วน ทั้ง 4 คน ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท เจนโฟร์ มอเตอร์ไบค์ จำกัด ขึ้นมาเมื่อ 2 ปีก่อน

"การที่เราคนเดียวจะมาเรียนรู้ใหม่หมดกับธุรกิจที่มีมาอยู่ก่อนนานแล้วจะเสียเปรียบคนที่อยู่มาก่อน เพราะฉะนั้นการหามือโปรมาช่วยเสริมกันเพราะถนัดคนละด้าน ทำให้เราสามารถก้าวทันคนอื่นได้ในเวลาที่ค่อนข้างเร็ว เพราะตอนนี้เราเป็นที่รู้จักในวงการนี้แล้ว"

แม้ว่ารูปแบบธุรกิจจะไม่แตกต่างแต่แนวคิดในการทำธุรกิจของ Gen 4 ต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ เริ่มแรกคือแนวคิดในการมองโอกาสธุรกิจด้วยการมุ่งเน้นไปที่การหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งเป็นการสร้างฐานลูกค้าที่ต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มักจะมองแต่กลุ่มลูกค้ากลุ่มเดิม โดยใช้วิธีการกระตุ้นตลาดที่แตกต่าง เริ่มจากการทำประชาสัมพันธ์เฉพาะกลุ่ม ด้วยการนัดสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มไปขับรถเที่ยว การออกบูทในศูนย์การค้า รวมทั้งการไปโชว์ตัวในงานอีเวนต์ ซึ่งเป็นโอกาสให้พบลูกค้าใหม่ที่มักจะสนใจเข้ามาทักทาย ทำให้ได้โอกาสแจกนามบัตร

ที่สำคัญคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีโดยเน้นไปที่การเปิดรับทุกคนที่ให้ความสนใจอย่างเป็นมิตรโดยไม่ได้หวังว่าจะเกิดการซื้อขายตามมาหรือไม่ พร้อมกับการสร้างจุดเด่นในเรื่องการบริการ ไม่ว่าจะเป็นการพาไปขับอย่างถูกวิธีและปลอดภัย โดยมีสนามฝึกที่เป็นมาตรฐานและนักแข่งรถที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาช่วยฝึก รวมทั้งฝีมือของช่างที่สามารถแต่งรถหรือดูแลรถให้ทำออกมาแล้วใช้งานได้จริง ยังเป็นจุดแข็ง นอกจากนี้ ยังมีบริการจัดไฟแนนซ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าจ่ายได้ดีขึ้นและมีการดูแลรับซื้อขายแลกเปลี่ยน

"ในขณะที่รายอื่นๆ ส่วนมากจะกลุ่มเป้าหมายระดับ B ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็น Triumph, BMW, Ducati และ Harley Davidson ซึ่งเป็นรถที่มีดีไซเนอร์แต่งอย่างสมบูรณ์แบบมาแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับ B ลงมาเป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มที่ยังมีช่องว่าง ไม่มีใครจับตลาดที่ชัดเจน และเห็นว่ามีลูกค้าที่ชอบสนุกกับการแต่งรถเอง เช่น ทำเฟรมใหม่ ทำสีใหม่ หรือรถสปอร์ตจากญี่ปุ่นอย่างซูซูกิ ถ้าจะเบรกที่ความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงต้องมีการปรับแต่งอุปกรณ์ใหม่ เพราะเบรกปรกติไม่พอ ซึ่งเรามีช่างที่มีความสามารถในการดูแลและให้คำปรึกษาแนะนำลูกค้าได้จริงๆ

มองอนาคตสดใส ปูทางสร้างความยั่งยืน
เนื่องจาก ธุรกิจนี้ยังมีภาพที่เรียกว่า "Gray market" เพราะมีการซื้อรถที่มีแต่ใบ Invoice ซึ่งเป็นอะไหล่นำเข้ามาประกอบและขับขี่โดยไม่จดทะเบียนและเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฏหมาย แต่แนวทางการทำธุรกิจของ Gen 4 มองความถูกต้องในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและต้องการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจ ถึงแม้ว่าจะทำให้เสียโอกาสในการขายเพราะลูกค้าต้องจ่ายมากขึ้น ด้วยการขายรถทุกคันแบบมีการจดทะเบียนและจ่ายภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทำให้การซื้อรถแต่ละคันของลูกค้าต้องมีค่าใช้จ่ายสุงขึ้นคันละประมาณ 5-8 หมื่นบาท

"ลูกค้าบางคนอยากจะประหยัดเงินและคิดว่าไม่เป็นไรถ้าตำรวจจับคงจะต่อรองได้ ในขณะที่ บางร้านก็คิดแค่อยากจะขายเท่านั้น แต่สำหรับเราอยากทำให้ถูกต้องมากกว่า เพราะเราไม่ได้ทำธุรกิจแบคิดแต่จะขายหรือต้องมีกำไรมากๆ แต่คิดว่าถ้าเราสามารถทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้ ผลกำไรก็จะตามมาเอง นอกจากนี้ในอีกไม่เกิน 5 ปี ข้างหน้าค่าทะเบียนรถใหญ่นำเข้าจะเป็น 0% ทำให้โอกาสในการขายของเราสูงขึ้นอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม ชาญยุทธ มองอนาคตของธุรกิจนี้ว่า น่าจะเติบโตไปได้อีกนาน เพราะปัจจุบันค่ายรถญี่ปุ่นรายใหญ่เข้ามาเปิดศูนย์บริการรถบิ๊กไบค์ ไม่ว่าจะเป็น ฮอนด้า ยามาฮ่า คาวาซากิ และซูซูกิ ซึ่งจะเป็นการเข้ามาช่วยขยายตลาด เพราะจะมีการกระตุ้นความนิยมให้เพิ่มมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์โดยรวมเพราะไม่ใช้ลูกค้าทุกคนจะเข้าไปใช้บริการกับศูนย์ฯ ดังนั้น Gen 4 จึงเป็นทางเลือก

นอกจากนี้ ยังมองว่าเพราะผู้ชายทุกคนชอบความเร็วและใฝ่ฝันอยากจะมีรถบิ๊กไบค์เอาไว้ขับเล่น เพราะเสน่ห์อยู่ที่ความเท่ห์ของรถและเครื่องแต่งกาย รวมทั้งความสนุกกับการได้ขับขี่และได้มารวมกลุ่มพบปะคนที่ชอบเหมือนกัน

ในด้านการบริหารจัดการ ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเล็กๆ มีทีมงานประมาณ 10 คนเท่านั้น แต่หากไม่มีแนวทางและวิธีบริหารจัดการที่ดีจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ไม่น้อย โดยเฉพาะบางส่วนในทีม ซึ่งมีความเป็นศิลปินชอบความอิสระ ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องระเบียบกฏเกณฑ์หรือความคิดแบบธุรกิจทำให้ต้องปรับตัว ทั้งการใช้คำพูด การแสดงออกและค่อยๆ ใส่ความคิดเข้าไปให้เกิดความเข้าใจตรงกัน อย่างไรก็ตาม แนวทางในการทำธุรกิจที่หุ้นส่วนทุกคนคิดตรงกันคือต้องซื่อตรงต่อลูกค้า ไม่ตีหัวเข้าบ้าน เพราะเชื่อว่าจะเป็นรากฐานให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน นอกเหนือจากการใช้ความสมารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่

ที่มา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์

0 comments:

Post a Comment